Greece; Hellenic Republic

กรีซ, สาธารณรัฐเฮลเลนิก




     กรีซเป็นประเทศขนาดเล็กในทวีปยุโรปที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่นับพัน ๆ ปีเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมตะวันตกและเป็นประเทศแม่แบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในสมัยกลาง กรีซเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์(Byzantine Empire) แต่เมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ล่มสลายใน ค.ศ. ๑๔๕๓ ดินแดนกรีซต้องตกอยู่ใต้ปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) หรือตุรกีชาวกรีกต่างพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอกราชและประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๓๐เมื่อประเทศมหาอำนาจต่างค้ำประกันเอกราชและอำนาจอธิปไตยของกรีซ แต่กรีซก็ยังคงประสบปัญหาในการรวบรวมดินแดนทั้งหมดของชนชาติกรีกให้เป็นปึกแผ่นจนถึงปัจจุบัน
     ประวัติศาสตร์กรีซโบราณเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อชาวกรีกพวกแรกหรือเฮลเลน (Hellen) หรือเป็นที่รู้จักกันต่อมาว่าพวกไมซีเนียน (Mycenaean) ได้อพยพจากบริเวณฝั่งแม่น้ำดานูบมาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรเพโลพอนนีซัส (Peloponnesus) และรับอารยธรรมมิโนน (MinoanCivilization) ที่ก่อกำเนิดในเกาะครีต (Crete)พวกไมซีเนียนได้ถูกชาวกรีกเผ่าดอเรียน(Dorian) เข้ารุกรานเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๒ ก่อนคริสต์ศักราชซึ่งมีผลให้อารยธรรมไมซีนี (Mycenae) ที่ได้รับถ่ายทอดจากอารยธรรมมิโนนล่มสลายดินแดนกรีซได้เข้าสู่ยุคมืดเป็นเวลาหลายศตวรรษ ในช่วงยุคมืดนี้ มีการประพันธ์วรรณกรรมมุขปาฐะเรื่อง มหากาพย์อิเลียด (Illiad) และโอดิสซีย์ (Odyssey) ซึ่งเป็นเรื่องราวการผจญภัยของวีรบุรุษกรีก มหากาพย์ทั้ง ๒ เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเอกสารกึ่งประวัติศาสตร์ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์กรีกในระยะแรก ๆ
     ในศตวรรษที่ ๘ ก่อนคริสต์ศักราช เมื่ออารยธรรมในดินแดนกรีซเริ่มฟื้นตัวจากยุคมืด ชาวกรีกซึ่งกลายเป็นผู้ไม่รู้หนังสือได้นำตัวอักษรของชาวฟินิเชียนมาดัดแปลงเพื่อใช้ในการเขียนหนังสือของตน ในเวลาไม่ช้า ชาวกรีกก็สามารถเป็นผู้นำทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการค้าได้อีกครั้ง ทั้งยังจัดตั้งอาณานิคมกรีกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชายฝั่งทะเลดำ เอเชียไมเนอร์ คาบสมุทรอิตาลี เกาะซิซีลีและชายฝั่งแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีผลให้อารยธรรมกรีกหลั่งไหลไปยังดินแดนต่าง ๆเหล่านี้ด้วย
     ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้หรือที่เรียกว่ายุคคลาสสิก (Classical Age) กรีซมีระบอบการปกครองแบบแว่นแคว้นหรือนครรัฐ (city-state) นครรัฐแต่ละแห่งมีอำนาจปกครองตนเอง โดยมีนครรัฐที่สำคัญคือ เอเธนส์ (Athens) คอรินท์(Corinth) สปาร์ตา (Sparta) ทีบส์ (Thebes) และไมซีนีต่อมา นครรัฐสปาร์ตาซึ่งเป็นรัฐผู้นำในด้านทหารและเอเธนส์ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นศูนย์กลางของความเจริญ การค้า และศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้กลายเป็นคู่แข่งแย่งชิงอำนาจในการเป็นผู้นำนครรัฐอื่น ๆ นครรัฐทั้งสองและพันธมิตรได้เข้าสู่สงครามเพโลพอนนิเชียน (Peloponnesian War ๔๓๑-๔๐๔ ปีก่อนคริสต์ศักราช) และสงครามคอรินเทียน (Corinthian War ๓๙๘-๓๘๗ ปีก่อนคริสต์ศักราช) สงครามดังกล่าวทำให้นครรัฐต่าง ๆอ่อนแอ ในที่สุดก็เปิดโอกาสให้ราชอาณาจักรมาซิโดเนีย (Macedonia) ทางตอนเหนือที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่า แผ่ขยายอำนาจเข้าครอบครองนครรัฐกรีก
     ในรัชสมัยพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great๓๓๖-๓๒๓ปีก่อนคริสต์ศักราช) หรือที่เรียกว่ายุคเฮลเลนิสติก (Hellenistic Age)กรีซสามารถขยายอาณาเขตครอบคลุมเอเชียไมเนอร์ เปอร์เซียอียิปต์ จนถึงอินเดียในยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองดังกล่าวนี้ศิลปวัฒนธรรมกรีกได้เจริญแพร่หลายไปทั่วมีการจัดตั้งเมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) ในอียิปต์เพื่อเป็นศูนย์กลางของการค้าและศิลปวัฒนธรรมของกรีกด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชสวรรคตใน ๓๒๓ ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ไพศาลของพระองค์ก็แตกแยกออกเป็นอาณาจักรต่าง ๆ จนท้ายที่สุดกรีซต้องสูญเสียอิสรภาพและกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน เมื่อจักรวรรดิโรมันแบ่งดินแดนในปกครองออกเป็น ๒ ส่วนใน ค.ศ. ๓๙๕ กรีซตกเป็นของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในสมัยกลางดินแดนบางส่วนของกรีซก็ถูกชนต่างชาติเช่นอาหรับ สลาฟ บัลการ์ เอวาร์ และอื่น ๆ เข้ารุกรานหรือตั้งหลักแหล่ง ระหว่างสงครามครู เสดครั้งที่ ๔ จักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ถูกพวกนักรบครูเสดเข้ายึดครองใน ค.ศ. ๑๒๐๔ และแบ่งซอยดินแดนไปปกครองตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัล ต่อมา แม้จักรวรรดิไบแซนไทน์จะสามารถยึดอำนาจกลับคืนได้ใน ค.ศ. ๑๒๖๑ แต่ดินแดนกรีซบางส่วนก็ยังคงตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของชนชาติยุโรปตะวันตกต่อไปอีกหลายร้อยปี
     ใน ค.ศ. ๑๔๕๓ เมื่อพวกเติร์กเข้ายึดครองจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ดินแดนกรีซส่วนใหญ่จึงตกเป็นของจักรวรรดิออตโตมัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กรีกที่เรียกว่า “Turkocratia” ซึ่งชาวกรีกต้องอยู่ในอำนาจปกครองของพวกเติร์กพวกเติร์กได้ใช้ความพยายามยึดครองดินแดนกรีซทั้งหมดเป็นเวลากว่า๒ศตวรรษและประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๖๖๙ เมื่อได้อำนาจปกครองเกาะครีตจากพ่อค้าชาวเวนิส ต่อมา ในปลายทศวรรษ ๑๗๑๐ ก็สามารถกำจัดอิทธิพลและบทบาทของพ่อค้าชาวเวนิส ออกจากคาบสมุทรเพโลพอนนีซัสได้จนหมดสิ้น
     ชาวกรีกต้องยอมจำนนต่อการปกครองของพวกเติร์กแต่พยายามดิ้นรนเพื่อเอกราชอย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. ๑๗๗๐ จึงก่อการกบฏขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์เช่นเดียวกัน แต่การแยกตัวเป็นอิสระล้มเหลวและต้องตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันต่อไป
     ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่ออุดมการณ์เสรีนิยมและชาตินิยมซึ่งได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ค.ศ. ๑๗๘๙ เริ่มแพร่หลายไปทั่วยุโรป กรีซพยายามรณรงค์เพื่อเรียกร้องเอกราชจากจักรวรรดิออตโตมัน ในค.ศ. ๑๘๑๔ ชาวกรีกที่เมืองโอเดสซาในรัสเซีย ได้เคลื่อนไหวจัดตั้งสมาคมลับเพื่อกู้ชาติขึ้นเรียกว่า สมาคมนานามิตร (Society of Friends หรือ Phillike Hetairia) ในค.ศ. ๑๘๒๑ เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ อิปซิลานติส (Alexander Ypsilantis)นายพลอดีตราชองครักษ์ของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๕-๑๘๒๕) แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ก็ได้ยกกองกำลังเข้าโจมตีแคว้นมอลเดเวีย (Moldavia)เพื่อช่วยปลดแอกชาวกรีก ขณะเดียวกันชาวกรีกผู้รักชาติก็ร่วมมือกันลุกฮือก่อการกบฏต่อจักรวรรดิออตโตมันในทศวรรษ ๑๘๒๐ อันนำไปสู่การต่อสู้อย่างทรหดในสงครามอิสรภาพกรีก (Greek War of Independence) สงครามดังกล่าวนี้ได้ปลุกเร้าอุดมการณ์เสรีนิยมและชาตินิยมให้ขยายวงกว้างขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจคืออังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ใช้กรีซเป็นเวทีประลองชั้นเชิงทางการเมืองและการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในคาบสมุทรบอลข่านอีกด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ รัสเซีย ซึ่งฝรั่งเศส ให้การสนับสนุนสามารถเอาชนะกองทัพตุรกีได้ที่เมืองเอเดรียโนเปิล (Adrianople)รัฐบาลตุรกีจึงต้องยินยอมทำสนธิสัญญาเอเดรียโนเปิล (Treaty of Adrianople ๑๔กันยายน ค.ศ. ๑๘๒๙) โดยให้มหาอำนาจตะวันตกเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหากรีซได้และให้รัสเซีย ได้สิทธิเข้าควบคุมดินแดนในราชรัฐดานูบ (Danubian Principalities)ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๐ ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย จึงร่วมกันทำข้อตกลงพิธีสารลอนดอน (London Protocol) ค้ำประกันการจัดตั้งและเอกราชของราชอาณาจักรกรีซซึ่งมีประชากร ๘๐๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ มหาอำนาจทั้งสามได้ทู ลเชิญเจ้าชายออทโท (Otto) แห่งราชอาณาจักรบาวาเรีย (Bavaria)ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๑๗ พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ของราชอาณาจักร มีพระนามว่าพระเจ้าออทโทที่ ๑ (Otto I ค.ศ. ๑๘๓๒-๑๘๖๒) ซึ่งนับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกรีซ
     อย่างไรก็ดี แม้กรีซจะได้รับอิสรภาพและประสบความสำเร็จในการตั้งประเทศตามเจตนารมณ์ของการต่อสู้ แต่ดินแดนกรีซอีกจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนเชื้อสายกรีกกว่า ๒,๐๐๐,๐๐๐ คนยังคงอยู่ในปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งทำให้ชาวกรีกชาตินิยมต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อรวมชาติต่อไปอีกจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สงครามอิสรภาพกรีกยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองระหว่างประเทศและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe) ต้องเสื่อมลงและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพรมแดนในคาบสมุทรบอลข่าน นอกจากนี้ ชาวกรีกยังไม่พอใจ “กษัตริย์ต่างชาติ” และต่อต้านขุนนางเชื้อสายบาวาเรียที่มาปกครองตนในฐานะผู้สำเร็จราชการอีกด้วยทั้งที่ชาวต่างชาติดังกล่าวก็ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมกรีกหลายประการ เช่นการปรับปรุงประมวลกฎหมาย การจัดตั้งระบบการศึกษาและสร้างมหาวิทยาลัยแห่งเอเธนส์ ตลอดจนแยกวัดกรีกให้เป็นอิสระจากการควบคุมของอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล (Patriarch of Constantinople) ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลออตโตมัน ใน ค.ศ. ๑๘๔๓ ประชาชนและทหารได้ร่วมกันต่อต้านการปกครองแบบรวมอำนาจของพวกบาวาเรีย ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ ได้จัดตั้งระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น
     การต่อต้านพระเจ้าออทโทที่ ๑ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดสงครามไครเมีย(Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖) ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกของประเทศมหาอำนาจในยุโรปหลังจากว่างเว้นสงครามมาเป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปีตั้งแต่ ค.ศ.๑๘๑๕ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส เข้ายึดครองเมืองไพรีอัส (Piraeus) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญในอ่าวซารอนิก (Saronic) ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ เพื่อสกัดกั้นมิให้กรีซฉวยโอกาสร่วมมือกับรัสเซีย ทำสงครามกับตุรกี และผนวกดินแดนกรีซที่ยังอยู่ใต้อำนาจของพวกเติร์กพระเจ้าออทโทที่ ๑ กลับทรงวางเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จึงสร้างความผิดหวังให้แก่ชาวกรีกเป็นอันมาก อีกทั้งยังเป็นการสวนทางกับนโยบายชาตินิยมและ “แนวคิดมิกาเล” (Megale Idea) หรือ “แนวคิดอันยิ่งใหญ่” (Great Idea) ที่กรีซต้องการรวมดินแดนทั้งหมดที่มีประชาชนกรีกอาศัยอยู่เข้ากับราชอาณาจักรกรีซ
     ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๒ ทหารกรีซได้ก่อการกบฏต่อพระเจ้าออทโทที่ ๑ ซึ่งมีผลให้พระองค์ต้องเสด็จกลับบาวาเรีย ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๖๓ ชาวกรีกได้ลงประชามติเลือกเจ้าชายอัลเฟรด (Alfred ค.ศ. ๑๘๔๔-๑๙๐๐)พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria) เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของกรีซแต่รัฐบาลอังกฤษได้ตอบปฏิเสธและเสนอให้อัญเชิญเจ้าชายวิลเลียม จอร์จ(William George) พระโอรสองค์ที่ ๒ ของเจ้าชายคริสเตียน [ต่อมาคือพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ (Christian IX)] แห่งเดนมาร์ก ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าชายวิลเลียม จอร์จทรงยินดีรับเป็น “กษัตริย์ของชาวเฮลเลน” โดยเฉลิมพระนามว่าพระเจ้าจอร์จที่ ๑ (George I ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๑๓) รัฐบาลอังกฤษได้แสดงการสนับสนุนราชวงศ์ใหม่ของกรีซโดยยกหมู่เกาะไอโอเนียน (Ionian) ซึ่งตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ (British Protectorate) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๕ ให้แก่กรีซ
     ในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ ๑ กรีซได้หันมาปรับปรุงพัฒนาประเทศให้เจริญตามแนวทางของตะวันตก โดยสร้างทางรถไฟและถนน อีกทั้งขยายกิจการเรือขนส่งสินค้า ปรับปรุงระบบการศึกษา และการปฏิรูประบบสังคมต่าง ๆ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยังคงดำเนินนโยบายรวมดินแดนที่มีประชาชนพูดภาษากรีกเข้าด้วยกันต่อไประหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ที่ประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน(Congress of Berlin) ซึ่งจัดประชุมนานาชาติเพื่อจัดดุลอำนาจใหม่และแก้ไขสนธิสัญญาซานสเตฟาโน (Treaty of San Stefano มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๘อันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย -ตุรกีค.ศ. ๑๘๗๗-๑๘๗๘) และพิจารณาสร้างดุลยภาพในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ได้ตกลงให้กรีซผนวกดินแดนเทสซาลี (Thessaly) และบางส่วนของอีไพรัส (Epirus) แต่กำหนดให้เกาะครีตยังคงอยู่ใต้การดู แลของอังกฤษตามสนธิสัญญาซานเตฟาโนต่อไป ซึ่งสร้างความผิดหวังให้แก่ชาวกรีกโดยทั่วไปโดยเฉพาะชาวครีตเชื้อสายกรีกที่ต้องการรวมตัวกับกรีซ ผลสำคัญอีกประการหนึ่งของการประชุมใหญ่ครั้งนี้คือ จักรวรรดิออตโตมันต้องสูญสิ้นอำนาจในดินแดนในยุโรปเกือบทั้งหมด
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ได้มีการจัดตั้งองค์กรลับทางทหารขึ้น เรียกว่าสมาคมแห่งชาติ(National Society) หรือเรียกในภาษากรีกว่า “Ethnike Hetairia”เพื่อเสริมสร้างกำลังทัพกรีกให้แข็งแกร่ง กระตุ้นให้รัฐบาลมีนโยบายขจัดข้อจำกัดของฝ่ายมหาอำนาจที่ปิดกั้นการรวมตัวของดินแดนกรีซ และปลุกปั่นประชาชนในแคว้นมาซิโดเนีย และเกาะครีตให้ก่อกบฏเพื่อต่อต้านอำนาจผู้ปกครอง ดังนั้น ใน ค.ศ.๑๘๙๖ เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในเกาะครีต รัฐบาลกรีกจึงฉวยโอกาสส่งกองทัพเรือไปให้ความช่วยเหลือชาวครีตทันที ประเทศมหาอำนาจพยายามขัดขวางแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ต่อมา สมาชิกของสมาคมแห่งชาติยังเข้าโจมตีที่มั่นของพวกเติร์กในแคว้นมาซิโดเนีย อีกด้วย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันประกาศสงครามกับกรีซในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๙๗สงครามกรีซ-ตุรกี (Greco-Turkish War) ดำเนินเป็นเวลาหลายสัปดาห์โดยกรีซเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และไม่สามารถจะสกัดกั้นกองทัพตุรกีที่บุกจนเกือบถึงกรุงเอเธนส์ได้อย่างไรก็ดี ก่อนที่กรีซจะประสบกับความหายนะมากขึ้นประเทศมหาอำนาจได้เรียกร้องให้ตุรกียุติการสู้รบ ชื่อเสียงของกรีซได้รับความเสียหายอย่างมากในระดับนานาชาติอีกทั้งรัฐบาลยังถูกลงโทษให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลให้แก่ตุรกี และเสียดินแดนบางส่วนของเทสซาลีอีกด้วย ส่วนตุรกีก็ถูกบังคับให้ถอนกำลังทั้งหมดจากครีต รวมทั้งต้องยินยอมให้ครีตปกครองตนเองด้วยโดยครีตยังคงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิต่อไป ประเทศมหาอำนาจได้ร่วมกันสนับสนุนให้เจ้าชายจอร์จ (George) พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าจอร์จที่ ๑ แห่งกรีซดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ (High Commissioner) ประจำเกาะครีตโดยมีองค์กรระหว่างประเทศที่มหาอำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นผู้กำกับดูแลอีกลำดับหนึ่ง
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ กลุ่มยังเติร์ก (Young Turks) ได้ก่อการปฏิวัติขึ้นในจักรวรรดิออตโตมันซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดกระแสเรียกร้องอย่างรุนแรงในหมู่ชาวกรีกให้มีการรวมเกาะครีตเข้ากับราชอาณาจักรกรีซอีกครั้ง แต่รัฐบาลกรีกซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจไม่อาจตอบสนองความต้องการดังกล่าวดังนั้น เพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์ของสมาคมแห่งชาติที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างเหนียวแน่นในสังคมกรีก กลุ่มนายทหารจึงรวมตัวกันจัดตั้ง “ภาคีทหาร”(Military League) ขึ้น และได้ก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจปกครองใน ค.ศ. ๑๙๐๙เอลิวเทริออส เวนิเซลอส (Eleutherios Venizelos) ผู้นำทางการเมืองชาวครีตที่มีนโยบายรวมครีตเข้ากับกรีซได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคมค.ศ. ๑๙๑๐ นโยบายขยายอิทธิพลของคณะรัฐบาลชุดใหม่ทำให้กรีซเข้าสู่สงครามบอลข่าน (Balkan Wars) ๒ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ และ ค.ศ. ๑๙๑๓ เพื่อแบ่งแยกและผนวกแคว้นมาซิโดเนีย
     ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ หลังสงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ยุติลงแล้วประเทศคู่สงครามได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaty of Bucharest)ซึ่งทำให้กรีซได้รับส่วนแบ่งบางส่วนของแคว้นมาซิโดเนีย ทางตะวันออกเฉียงใต้และแคว้นเทรซ (Thrace) ทางตะวันตก รวมทั้งเมืองซาโลนิกาด้วย ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ กรีซและจักรวรรดิออตโตมันก็ได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London) เพื่อยุติสงครามระหว่างกันโดยมีข้อตกลงให้เกาะครีตตกเป็นของกรีซด้วย
     ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เวนิเซลอสมีนโยบายที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับเยอรมนี แต่นโยบายดังกล่าวได้ถูกพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑(Constantine I ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๗ และ ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๒) ขัดขวางทั้งนี้เพราะทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไกเซอร์ิวลเลียมที่ ๒ (William IIค.ศ.๑๘๘๘-๑๙๑๘) ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมเหสี ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ดังกล่าวทำให้กรีซดำเนินนโยบายเป็นกลางซึ่งถูกฝ่ายสัมพันธมิตรกล่าวหาว่าเอนเอียงเข้ากับฝ่ายเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ทรงบีบให้เวนิเซลอสลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวนิเซลอสจึงได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นอีกชุดหนึ่งที่เกาะครีตและต่อมาได้ย้ายไปตั้งในเมืองซาโลนิกาเพื่อเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรโดยมีอังกฤษและฝรั่งเศส สนับสนุน ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๗หลังจากพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ทรงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรและเวนิเซลอสบีบบังคับให้สละราชสมบัติให้แก่เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ (Alexander) พระราชโอรสแล้ว กรีซก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเต็มตัวและทำการรบกับบัลแกเรีย เมื่อสงครามยุติใน ค.ศ. ๑๙๑๘ กรีซก็ได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมในสงครามด้วย ตามข้อตกลงของสนธิสัญญาเนยยี (Treaty ofNeuilly ค.ศ. ๑๙๑๙) กรีซได้รับดินแดนในแคว้นเทรซบางส่วนเพิ่มเติมซึ่งเป็นส่วนที่บัลแกเรีย ได้ครอบครองใน ค.ศ. ๑๙๑๓
     อย่างไรก็ดี ความหายนะจากสงครามที่เกิดขึ้นจากนโยบายเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรของเวนิเซลอสทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในรัฐบาลของเขา และมีผลให้เขาไม่ได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ต่อมา ในวันที่ ๕ ธันวาคมปี เดียวกันได้มีการลงประชามติเพื่อสนับสนุนให้พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ กลับมาสืบราชสมบัติีอกครั้ง เนื่องจากพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ สวรรคตอย่างกะทันหันในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐
     ระหว่างทศวรรษ ๑๙๒๐ ถึงทศวรรษ ๑๙๓๐ กรีซต้องประสบกับความผันผวนทางการเมืองหลายครั้งและได้ทำสงครามกับตุรกีเพื่อรักษาสิทธิที่ได้รับตามสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Severs) ที่ให้สิทธิแก่กรีซเป็นเวลา ๕ ปี ในการปกครองเมืองท่าสเมอร์นา [Smyrna - ปัจจุบันคือ เมืองอิซมีร์ (Izmir)] ของตุรกีและเขตปริมณฑล ซึ่งมีประชาชนเชื้อสายกรีกจำนวนนับแสนคนอาศัยอยู่ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ประชาชนแสดงประชามติว่าจะอยู่ใต้ปกครองของฝ่ายใด ข้อตกลงดังกล่าวนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของชาวเติร์กชาตินิยม สงครามครั้งนี้นำความเสียหายอย่างมหันต์มาสู่กรีซ กองทัพตุรกีซึ่งมีมุสตาฟา เคมาลอะตาเติร์ก (Mustapha Kemal Atatürk) เป็นผู้นำ สามารถบดขยี้กองทัพกรีกที่พยายามพิชิตเมืองอังการา (Ankara) ต่อมา กองทัพตุรกีได้บุกเข้ายึดเมืองท่าสเมอร์นาจากกรีซได้เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ และทำลายเขตอาศัยของประชากรเชื้อสายกรีก และต่อมาก็บังคับให้ประชากรเชื้อสายกรีกทั้งหมดอพยพออกจากเมือง ความปราชัยในครั้งนี้มีผลให้พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ต้องสละราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายจอร์จ พระราชโอรสองค์โต และเสด็จไปประทับในต่างประเทศจนสวรรคตที่เมืองปาแลร์โม (Palermo) ในเกาะซิซีลี (Sicily) ในต้นค.ศ. ๑๙๒๓ ต่อมา ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ กรีซและตุรกีได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne) ซึ่งทำให้กรีซต้องยุตินโยบายขยายดินแดนตามแนวคิดมิกาเล โดยต้องให้การรับรองแนวเขตแดนกับตุรกี และรับผู้อพยพเชื้อสายกรีกจำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐ คนจากเอเชียไมเนอร์ ทำให้พลเมืองกรีกเพิ่มจำนวนเป็น ๕,๘๐๐,๐๐๐ คน
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ชาวกรีกแสดงประชามติล้มล้างระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ แต่ความขัดแย้งภายในก่อให้เกิดรัฐประหารและการใช้อำนาจเผด็จการทหารอีกหลายครั้ง สถานการณ์ทางการเมืองกระเตื้องขึ้นบ้างระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๒ เมื่อเวนิเซลอสกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ พวกนิยมกษัตริย์สามารถผลักดันให้มีการจัดตั้งระบบการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอีกครั้งโดยอัญเชิญพระเจ้าจอร์จที่ ๒ (George II ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๔, ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๔๑ และค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๗) ให้กลับมาครองบัลลังก์ีอก แต่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๖นายพลยออันยีส เมตักซาส (Ioannis Metaxas) ก่อรัฐประหารล้มล้างอำนาจรัฐสภาและสถาปนาอำนาจเผด็จการฟาสซิสต์ (Fascism) ขึ้นปกครองประเทศอย่างเข้มงวดจนถึงแก่อสัญกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๑
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ กรีซได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่เมื่อกองทัพอิตาลี จากแอลเบเนียล่วงล้ำอธิปไตยและดินแดนกรีซในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กรีซจึงประกาศตนเข้ากับฝ่ายพันธมิตรระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๔ กรีซได้ถูกกองทัพเยอรมันเข้าครอบครองและต้องประสบกับภัยพิบัตินานัปการ พระเจ้าจอร์จที่ ๒ เสด็จลี้ภัยไปประทับที่เกาะครีตพร้อมคณะรัฐบาล แต่ต่อมาเมื่อกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองเกาะครีตได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ก็ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงไคโร (Cairo) และกรุงลอนดอนตามลำดับ
     ระหว่างประเทศถูกยึดครอง ชาวกรีกรักชาติได้รวมพลังจัดตั้งองค์กรกู้ชาติและต่อต้านเยอรมนี ขึ้นหลายองค์กร ที่สำคัญได้แก่ แนวร่วมอิสระแห่งชาติหรืออีเอเอ็ม (Ethnikon Apeleftherotikon Metopon - EAM; National Liberal Front)ซึ่งเป็นองค์กรกู้ชาติของฝ่ายซ้าย มีกองกำลังติดอาวุธของตนเองและมีผู้สนับสนุนประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ ของประชากรทั่วทั้งประเทศ รองลงมาคือองค์กรสหภาพประชาธิปไตยกรีกแห่งชาติหรืออีดีอีเอส (Ethnikon Demokratikos EllenikosSyndesmos - EDES; National Democratic Greek Union) ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๓ หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรเข้าโจมตีอิตาลี องค์กรทั้งสองก็เริ่มขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงอำนาจในการควบคุมประเทศอันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสงครามกลางเมืองกรีซ (Greek Civil War ค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๙)ที่บั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันมาก
     สงครามกลางเมืองกรีซที่สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ นำมาซึ่งความหายนะทางทรัพย์สินและการสูญเสียประชากรจำนวนมาก ทั้งพลเมืองกว่า๗๕๐,๐๐๐ คนไร้ที่อยู่อาศัยและตกอยู่ในสภาวะบ้านแตก ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียประมาณ ๕,๕๐๐ คน ความบอบช้ำทางจิตใจของประชาชนก็รุนแรงมากยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชัยชนะของรัฐบาลในสงครามกลางเมืองครั้งนี้เปิดโอกาสให้กลุ่มทหารใช้ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้างในการวางรากฐานของอำนาจเผด็จการขึ้น ทั้งทำให้้กรีซได้รับความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศกรีซกลายเป็นแบบอย่างของการต่อสู้เอาชนะสงครามของพวกคอมมิวนิสต์ และทำให้นโยบายจำกัดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ (Containment Policy) ของสหรัฐอเมริกามีผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น
     ในทศวรรษ ๑๙๕๐ หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง เศรษฐกิจของกรีซได้กระเตื้องขึ้น กรีซได้รับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศและสหรัฐอเมริกาในการปรับปรุงพื้นฟูประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ได้เป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization -NATO) และในปี เดียวกันนั้น สตรีกรีกก็ได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๑ กรีซได้เป็นสมาชิกสมทบของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EuropeanEconomic Community - EEC) และเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๑๙๘๑
     ในด้านการต่างประเทศ ในทศวรรษ ๑๙๖๐ กรีซได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองของเกาะไซปรัส (Cyprus) ที่ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกพยายามดำเนินการเรียกร้องให้ไซปรัสรวมตัวกับกรีกตามอุดมการณ์ีอโนซีส (enosis) จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองไซปรัสที่ผลักดันให้ตุรกีและกรีซต้องขัดแย้งกันและมีผลกระทบต่อการเมืองภายในของกรีซด้วย อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมากรีซและตุรกีก็สามารถเจรจาตกลงกันได้เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามโดยกรีซยอมถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากไซปรัส ในช่วงเวลาเดียวกัน อาร์ชบิชอปมาคารีออสที่ ๓(Makarios III) ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีไซปรัสในต้น ค.ศ. ๑๙๖๘พยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยประกาศยกเลิกนโยบายอีโนซีสที่จะให้ไซปรัสรวมตัวกับกรีซ การแทรงแซงของกรีซในไซปรัสจึงยุติลง
     ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๗ คณะนายทหารหนุ่มซึ่งมีพันเอก จอร์จ ปาปาโดปูลอส (George Papado Poulos) เป็นผู้นำได้ก่อรัฐประหารล้มล้างอำนาจรัฐบาลพลเรือนและประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องการคุกคามของพวกคอมมิวนิสต์และปกป้องสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลทหารได้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองและจับกุมกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม สหรัฐอเมริกาจึงตัดความช่วยเหลือทางทหารพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๒ (Constantine II ค.ศ. ๑๙๖๔-๑๙๗๓) ทรงพยายามก่อปฏิวัติซ้อนเพื่อล้มอำนาจเผด็จการทหาร แต่ล้มเหลว ซึ่งมีผลให้พระองค์พร้อมด้วยพระราชวงศ์ต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับที่อิตาลี ในปลายปีนั้น ปาปาโด ปูลอสดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) และพลเอก จอร์จ ลอยตากิส(George Loitakis) ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการ ปาปาโด ปูลอสและกลุ่มนายทหารได้ใช้อำนาจปราบปรามกลุ่มตรงข้ามอย่างไร้มนุษยธรรมจนถูกนานาประเทศต่อต้านและกล่าวประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรีซ
     ต่อมา กรีซประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐในวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๓ โดยกำหนดให้ปาปาโด ปู ลอสดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๑ แต่ก่อนที่เขาจะเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเดือนสิงหาคม ปาปาโด ปูลอสก็ต้องประสบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากนิิสตนักศึกษาที่เริ่มรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลแล้วตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๗๓ สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจนปาปาโด ปู ลอสต้องยอมประนีประนอมว่าจะคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน และจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มนายทหารเป็นอันมาก แต่กระนั้น การจลาจลต่อต้านของกลุ่มนิิสตนักศึกษาก็ยังคงดำเนินต่อไปจนรัฐบาลต้องส่งกองกำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ ๑๗พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๓อีก ๘ วันต่อมา กลุ่มนายทหารจากเหล่าทัพต่าง ๆ ซึ่งสนับสนุนพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๒ ได้รวมตัวก่อรัฐประหารีอกครั้งและปกครองจนถึงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในและความผิดพลาดของการดำเนินนโยบายต่างประเทศทำให้พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๒ ทรงตัดสินพระทัยสละพระราชอำนาจเพราะได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศและการปฏิบัติการทางทหารในการยึดเกาะไซปรัสล้มเหลวคอนสแตนตินอส คาราแมนลิส (Constantinos Karamanlis) อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๖๓ ซึ่งเดินทางกลับจากการลี้ภัยได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ปีเดียวกันชาวกรีกก็ได้ลงประชามติสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๖๙.๒ อันมีนัยการสิ้นสุดของระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๒ และพระราชวงศ์จึงเสด็จไปประทับที่อิตาลี และสเปน อย่างถาวรตามลำดับ ต่อมาในค.ศ. ๑๙๗๕ กรีซก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน (ในค.ศ. ๑๙๘๖ และ ค.ศ. ๒๐๐๑ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) โดยมีรัฐสภาเดี่ยว(unicameral parliament) ซึ่งมีสมาชิกสภา ๓๐๐ คนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและดำรงตำแหน่งวาระ ๔ ปี ประธานาธิบดีซึ่งเลือกตั้งจากสภามีวาระ ๕ ปีและดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระ
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๑พรรคขบวนการสังคมนิยมรวมชาวเฮลเลน (Pan-HellenicSocialist Movement - PASOK) ซึ่งมีอันเดรอัส ปาปันเดรอู (Andreas Papandreou)เป็นผู้นำสามารถชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ ๔๘ ปาปันเดรอูจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่สังกัดพรรคสังคมนิยม ในช่วงสมัยของปาปันเดรอูกรีซประสบความสำเร็จในการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป (European Commu-nity - EU) โดยเป็นสมาชิกลำดับที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๑ การเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวทำให้กรีซได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนและอื่น ๆ รวมทั้งเข้าไปมีบทบาทในเวทีการเมืองของยุโรปด้วยอย่างไรก็ดีในช่วงที่รัฐบาลสังคมนิยมมีอำนาจระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๘๙ นั้น กรีซประสบกับปัญหาเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก อีกทั้งปาปันเดรอู และรัฐมนตรีหลายคนยังมีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของพรรคขบวนการสังคมนิยมรวมชาวเฮลเลนเป็นอย่างยิ่งดังนั้น ในการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๙๘๙พรรคประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Party) ซึ่งมีคอนสแตนติน มิตโซตากิส (Constantine Mitsotakis) เป็นผู้นำจึงชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายให้การสนับสนุนอย่างไรก็ดีรัฐบาลผสมชุดนี้มีระยะเวลาทำงานอันสั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐พรรคประชาธิปไตยใหม่สามารถชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดและจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้
     ในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ กรีซยังคงมีเรื่องพิพาทกับตุรกีเกี่ยวกับชาวกรีกในเกาะไซปรัสและชาวเติร์กในดินแดนกรีซซึ่งต่างฝ่ายต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ในยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกล่มสลายลงใน ค.ศ. ๑๙๙๐ และรัฐต่าง ๆ ในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic ofYugoslavia) เริ่มประกาศแยกตัวเป็นประเทศอิสระในปี ต่อมา กระแสชาตินิยมในกรีซก็เริ่มรุนแรงมากขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาซิโดเนีย และดินแดนภาคใต้ของแอลเบเนีย ซึ่งมีประชากรเชื้อสายกรีกอาศัยอยู่ กรีซเคลื่อนไหวค้ดค้านไม่ให้สาธารณรัฐมาซิโดเนีย (Republic of Macedonia) ที่แยกตัวจากยูโกสลาเวียเป็นประเทศเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ไม่ให้ใช้ชื่อดังกล่าว ด้วยข้ออ้างว่าการใช้ชื่อสาธารณรัฐมาซิโดเนีย มีนัยถึงความต้องการจะขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมถึงดินแดนมาซิโดเนีย ส่วนที่กรีซปกครองอยู่ ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวทำให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีมติให้มาซิโดเนีย ซึ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐมาซิโดเนีย อดีตยูโกสลาเวีย (The FormerYugoslav Republic of Macedonia - FYROM) ไปก่อนจนกว่าทั้งสองประเทศจะเจรจาตกลงกันได้ ในกลางทศวรรษ ๑๙๙๐ กรีซได้เข้าร่วมกับนานาประเทศในยุโรปในการสร้างความมั่นคงและความร่วมมือกันโดยเฉพาะในคาบสมุทรบอลข่านโดยกรีซได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมกับองค์การนาโตในการแก้ไขวิกฤตการณ์สงครามบอสเนีย (Bosnian War) และวิกฤตการณ์คอซอวอ (Kosovo Crisis) นอกจากนี้ในค.ศ. ๑๙๙๙ กรีซร่วมก่อตั้งองค์การทหารระดับภูมิภาคที่เรียกว่ากองกำลังแห่งยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (South Eastern Europe Brigade) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยแอลเบเนีย บัลแกเรีย กรีซอิตาลี สาธารณรัฐมาซิโดเนีย โรมาเนีย และตุรกีเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพในส่วนภูมิภาคด้วย ขณะเดียวกันกรีซก็ปฏิรูปโครงสร้างทางการทหารโดยลดขนาดของกองทัพลง แต่เพิ่มประสิทธิภาพให้เข้มแข็งมากขึ้นรวมทั้งบรรจุทหารอาชีพที่เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเข้าประจำการให้มากขึ้นด้วย
     ในต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ กรีซซึ่งมีคอสตัส ซีมีติส (Kostas Simitis) ผู้นำคนสำคัญของพรรคขบวนการสังคมนิยมรวมชาวเฮลเลนเป็นนายกรัฐมนตรี (ค.ศ.๑๙๙๖-๒๐๐๔) เน้นการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศและผลักดันกรีซให้มีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มยูโรโซน (Eurozone) ด้วยการประกาศร่วมใช้เงินสกุลยูโร (Euro) ใน ค.ศ. ๒๐๐๑ รวมทั้งร่วมมือในด้านการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศและกฎหมายกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)ต่อมาในฤดูร้อน ค.ศ. ๒๐๐๒ รัฐบาลกรีซสามารถกวาดล้างกลุ่ม ๑๗พฤศจิกายน หรือ17 เอ็น (Novermber 17 - 17N) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อต้านประเทศตะวันตกซึ่งลอบสังหารนักการเมือง นักการทูต และนักธุรกิจที่เป็นชาวอเมริกันและอังกฤษกว่า ๒๐ คนในช่วงเวลารวม ๒๗ ปี ความสำเร็จของการกวาดล้างดังกล่าวทำให้กรีซซึ่งมักถูกประเทศตะวันตกวิจารณ์โจมตีว่าอ่อนแอต่อกลุ่มก่อการร้ายได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับจากประเทศตะวันตกมากขึ้น ทั้งทำให้ประชาคมโลกมั่นใจในประสิทธิภาพความเข้มแข็งของรัฐบาลกรีซในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมและการเมืองในช่วงที่กรีซจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก(Olymic Games) มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่กรุงเอเธนส์ใน ค.ศ. ๒๐๐๔
     ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ พรรคประชาธิปไตยใหม่(New Democratic Party) ซึ่งมีแนวนโยบายอนุรักษนิยมมีชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือพรรคสังคมนิยม ซึ่งครองอำนาจทางการเมืองมากว่า ๒๐ ปี คอสตัส คาราแมนลิส(Kostas Karamanlis) นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหลานของอดีตนายกรัฐมนตรีคอนสแตนตินอส คาราแมนลิส ผู้ที่ได้ชื่อว่านำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่กรีซหลังการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหาร คอสตัส คาราแมนลิส ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่กรีซเคยมีมาและมีประสบการณ์บริหารทางการเมืองไม่มากนัก ชัยชนะของเขาส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายแนวเสรีนิยมที่แตกต่างจากนโยบายของฝ่ายสังคมนิยม และส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวกรีกต้องการผู้นำรุ่นใหม่ที่จะนำพากรีซให้ก้าวสู่ความทันสมัยและตามทันประเทศตะวันตกอื่น ๆ ความสำเร็จของรัฐบาลในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ค.ศ. ๒๐๐๔ และเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาเจริญขึ้นตลอดจนการว่างงานที่เริ่มลดลงทำให้รัฐบาลได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนชาวกรีกมากขึ้น.
     


     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐเฮลเลนิก (Hellenic Republic)
เมืองหลวง
เอเธนส์ (Athens)
เมืองสำคัญ
เทสซาโลนีกี(Thessaloniki) ไพรีอัส (Piraeus) แพทรัส (Patras) เพรีสเตอรี (Periste'ri) อีราคลีออน (Iraklion) และลาริสซา (Larissa)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐแบบรัฐสภา
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๑๓๑,๙๔๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศแอลเบเนีย มาซิโดเนีย และบัลแกเรีย ทิศตะวันออก : ทะเลอีเจียน และประเทศตุรกีทิศใต้ : ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตก : ทะเลไอโอเนียน
จำนวนประชากร
๑๐,๗๐๖,๒๙๐ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
กรีกร้อยละ ๙๓ และอื่น ๆ ร้อยละ ๗
ภาษา
กรีก
ศาสนา
คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๙๘ อิสลามร้อยละ ๑.๓ และ อื่น ๆ ร้อยละ ๐.๗
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป